Accom Thailand

ปฐมวงศ์

“ปฐมวงศ์” เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดฯให้พระศรีสุนทรโวหาร(ฟัก สาลักษณ์) จดหมายเหตุตามพระราชนิพนธ์(พระราชดำรัส)
องค์สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี(ในรัชกาลที่ ๔)ทรงเป็นรากแก้วแห่งราชวงศ์จักรี
แล้วแตกหน่อออกเป็น ๗ หน่อ หน่อทั้ง ๗ นี้เป็นต้นสกุลแห่งเจ้าทั้งมวล

ในคำนำ “ประชุมพงศาวดาร ภาค ๘”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า “ปฐมวงศ์” นั้นมีหลายฉบับ ฉบับที่ทรงตรวจแล้วว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือฉบับที่ตีพิมพ์ในประชุมพงศาวดาร ภาค ๘ ส่วนฉบับอื่นๆมีสำนวนที่ไม่ใช่พระราชนิพนธ์แทรกปนอยู่ไม่มากก็น้อย

ปฐมวงศ์

วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอกโทศก มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯดำรัสสั่งให้พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ จดหมายเหตุต้นพระบรมราชวงศ์ในปัจจุบันนี้ไว้สำหรับแผ่นดิน เผื่อจะให้พระบรมวงศานุวงศ์ในภายหน้าได้ทรงทราบ

จะกล่าวถึงเจ้านายจำพวกซึ่งเป็นปฐมเป็นต้นแซ่ต้นสกุลเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์แลเจ้าราชินิกุลที่เรียกนามว่า “คุณ” ว่า “หม่อม” มีบรรดาศักดิ์เนื่องในพระบรมราชวงศ์นี้ ซึ่งบัดนี้เป็นจำพวกต่างๆอยู่ จะให้รู้แจ้งว่าเนื่องมาแต่ท่านผู้ใด พระองค์ใด เป็นเดิมแต่แรกตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยานี้มา พึงรู้โดยสังเขปว่าบุรุษนารีมีบรรดาศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจำพวกเจ้า คือเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ทั้งปวงนั้น ล้วนปฏิพัทธ์พัวพันสืบต่อลงมาแต่ องค์สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี คือ องค์สมเด็จพระบรมชนกนาถพระเจ้าหลวง ของพระบาทสมเด็จพระปรโมรุถชามหาจักรีบรมนาถ ซึ่งปรากฎพระนามในบัดนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมบรมอัครมหาราชาธิราชใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ดำรงครอบครองเป็นเจ้าของกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา อันนี้สืบมาจนกาลบัดนี้นั้นเป็นเดิมทั้งสิ้น เรียกว่าสกุลเจ้าเป็นอย่างหนึ่ง บุรุษสตรีทั้งปวงเป็นบุตรหลานเหลนของท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นพระญาติห่างๆ ของ สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี พระญาติวงศ์ของสมเด็จพระพันปีหลวง และพระนางน้า ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ดี และท่านทั้งปวงที่เป็นชายเป็นหญิง พระญาติ พระวงศ์ ในกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งเป็นพระองค์เอกอัครราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลเป็น สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แลเป็นสมเด็จพระบรมมหาเปตามไหยิกา แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ในแผ่นดินปัจจุบัยนี้นั้น บรรดาที่ชิดชัดถนัด พอจะนับได้ก็ดี ท่านทั้งปวงที่เป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์ใน กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรดาที่เนื่องสนิทควร จะนับได้ก็ดี จำพวกที่กล่าวมานี้เรียกว่าเจ้าราชินิกุล หรือหม่อมเจ้า หรือหม่อมราชวงศ์ ซึ่งสืบต่อ ลงมาหลายชั่ว แต่พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าห่างเหินไปแล้ว ก็ควรเรียกว่า เจ้าราชินิกุล เหมือนกัน เจ้าราชินิกุลนั้นมีตำแหน่งฐานันดรตามพระราชกำหนดศักดินาบ้าง ไม่มีตำแหน่งบ้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในพระบรมมหาราชวงศ์อันนี้นั้น เมื่อครั้ง กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา กรุงเก่า ยังดำรงอยู่ ได้เสด็จมายังมนุษยโลกนี้ อุบัติมีขึ้นในมหาอำมาตย์คฤหบดีสกุลอันมั่งคั่งพร้อมมูลด้วยไอศุริยสมบัติ ถ้าจะเป็นมัธยมประเทศ ก็ควรจะเป็นสกุลมหาศาลได้ เพราเป็นสกุลใหญ่มีนิเวศสถานตั้งอยู่นาน ภายในกำแพง พระมหานครกรุงเมพทวาราวดีศรีอยุธยา พระองค์นับเป็นพระโอรสนับเป็นที่ ๔ ของ สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี เป็นพระบรมชนกนาถพระเจ้าหลวง แล สมเด็จพระบรมมหาไปยิกา ซึ่งเป็นพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวงนั้น เป็นทายกผู้บริจาคสร้าง วัดสุวรรณดาราราม ในกรุงศรีอยุธยา นั้น วันคืนปีเดือน พระชันษาเป็นกาลเวลาประสูติแห่ง พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นนาคสมพัตสร อัฐศก ผคุณมาศ กาฬปักษ์ปัญจดิถี พุทธวาร พุทธศาสนกาล ๒๒๗๘ พรรษา จุลศักราช ๑๐๙๘ พระองค์ทรงมี ภาดาภคินี ร่วมพระชนก ชนนี เดียวกัน ๕ พระองค์ คือ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี เป็นสมเด็จพระพี่นางที่ ๑
พระเจ้าขุนรามณรงค์ เป็นสมเด็จพระพี่ยาเธอ นับเป็นที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เป็นพระเจ้าพี่นางเธอ นับเป็นที่ ๓ แล้วถึงพระองค์เป็นที่ ๔แล้วจึงถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้นเป็นคำรบ ๕

ครั้นภายหลังมาสมเด็จพระบรมไปยิกา ซึ่งเป็นพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวงเสด็จทิวงคต ล่วงพระชนม์ไป จึงสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ได้สมเด็จพระเจ้าน้านางเธอ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นน้องนางของ สมเด็จพระบรมมหาไปยิกาธิบดี ร่วมพระชนกชนนีนั้น เป็นพระอัครชายา พระอัครชายานั้นประสูติพระโอรสพระธิดา ๒ พระองค์ คือ กรมหลวงนรินทรเทวีเป็นที่ ๖ และกรมหลวงจักรเจษฎาเป็นที่ ๗ รวมพระราชโอรสพระราชธิดาในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิดาได้ ๗ พระองค์เท่านี้ เป็นต้นแซ่ต้นสกุล เจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวง์ในราชสกุลนี้เป็นต้น
ก็แลก่อนแต่เวลากรุงศรีอยุธยายังไม่แตกทำลายเป็นที่ร้างนั้น พระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ๕ พระองค์ซึ่งนับในต้น เมื่อทรงเจริญวัยวัฒนาการแล้วก็ได้มีการอาวาหวิวาหการกับสกุลอื่น ซึ่งมีบรรดาศักดิ์แลสมบัติสมควรแล้ว ได้แยกย้ายกันไปอยู่ ณ ที่ต่างๆก่อตั้งสืบพระสันตติวงศ์โดยผาสุกสวัสดิภาพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นเสด็จออกไปตั้งนิเวศสถานในภานิรุทธยายานประเทศสวนนอก(๑) ในแขวงเมืองสมุทรสาครแลเมืองราชบุรีต่อกัน ได้มีการอาวาหวิวาหมงคลกับกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เพราะเหตุการที่ก่อนนั้น พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยามีพระทัยยินดีในที่จะแสวงหามาตุคามที่มีศิริรูปทรงโสภาคย์ แลเป็นบุตรีในสกุลที่มีทรัพย์ มาไว้ใช้เป็นนางในอันเตบุริกราชนารี จึงได้ให้มีผู้อาสาไปสนสื่อสืบส่อสอดแนมหาสตรีที่ผู้รูปงามต่างๆทั้งในกรุงนอกกรุงใกล้ไกล ก็ครั้งนั้นกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์เป็นบุตรของมหาเศรษฐีเป็นสกุลอันใหญ่ด้วยมากด้วยเครือญาติ แลสูงด้วยสมบัติ หาสกุลอื่นจะเสมอมิได้ในพาหิรุทธยานประเทศในเวลานั้น แลมีบุญลักษณะสิริรูปพรรณสัณฐานงามยิ่งนักเป็นที่เล่าลือ ความอื้ออึงทราบถึงพวกสอดแนมของพระเจ้าแผ่นดิน พวกนั้นจึงได้นำข่าวมากราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งกรมมหาดไทยให้มีท้องตราออกไปให้หัวเมืองราชบุรีไปสู่ขอกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งเป็นอัครนารีมีบุญลักษณะนั้นมาจากคฤหบดีสกุลนั้น แล้วส่งเข้ามาถวายเป็นอันเตบุริกราชนารี(๒) เพราะเวลานั้นเมืองราชบุรีขึ้นแก่กรมมหาดไทย ก็แลการตกแต่งตราบังคับบัญชาหัวเมืองมหาดไทยทั้งปวงครั้งนั้นเนื่องอยู่ในสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีทั้งสิ้น

ฝ่ายพระชนก ชนนี แลพระญาติพระวงศ์ ในกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น ไม่มีจิตชอบใจปรารถนาจะถวายกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์แก่พระเจ้าแผ่นดินเข้ามาต้องติดกักขังเป็นอันเตบุริกราชนารีอยู่ในพระราชวัง จึงได้แต่งคนมาอ้อนวอนพระบรมมหาไปยกาธิบดีซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแต่งท้องตรานั้น ให้ช่วยแก้ไขพอพ้นหลุดจากพระราชประสงค์พระเจ้าแผ่นดินเสียได้ สมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีจึงได้คิดอ่านให้มีผู้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น พระองค์ท่านได้ไปสู่ขอไว้เพื่อจะให้ได้แก่พระราชโอรสที่ ๔ ของท่าน ได้นัดการอาวาหวิวาหมงคลแล้ว ขอพระราชทานให้พ้นจากพระราชประสงค์เถิด พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระกรุณาอนุญาตพระราชทานให้ ก็ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(๓)เป็นอัครชายาแต่เดิมมาดังนี้ กรมสมเด็จพระอมรินทรามายต์นั้นมีพระชนมพรรษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปีหนึ่งถ้วนโดยจันทรคติกาลไม่ยิ่งหย่อน เพราะมีกำหนดวันประสูติทราบเป็นแน่ว่า สัปสมตสร นพมาศก ผคุณมาศ กาฬปักษ์ ปัญจมีดิถีรวิวาร เป็นปริจเฉทกาลกำหนดพุทธศาสนกาล ๒๒๘๐ พรรษา จุลศักราช ๑๐๙๙ กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นมีพระพี่นางเธอผู้ใหญ่เป็นที่ ๑ แล้วมีพระเจ้าพี่เป็นบุรุษนับเป็นที่ ๒ จึงถึงพระองค์เป็นที่ ๓ แล้วพระน้องนางอีก ๒ พระองค์ เป็นที่ ๖ ที่ ๗ ร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน ท่านทั้งหกยกแต่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์แล้วนั้นเป็นเจ้าคุณราชินิกุล บุตร หลาน เหลน ของท่านทั้งหกนั้น ก็เป็นเจ้าราชินิกุลทั้งสิ้นสืบมาจนกาลบัดนี้ สมเด็จพระชนกในกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้น เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามีพม่าข้าศึกเข้ามาล้อมอยู่ ผู้คนในพระนครปั่นป่วนไปมาก็สาบสูญหายไปตามไม่พบท่าน แสมเด็จพระชนนีนั้นได้ทรงผนวชเป็นรูปชี อยู่มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอกฟ้าจุฬาโลก ได้ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เป็นที่คำนับบูชาของพระราชวงศษนุวงศ์ ดำรงพระชนม์อยู่ ๙๐ ปีเศษจึงสิ้นพระชนม์เมื่อ ปีระกานักษัตรตรีศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พุทธศาสนกาล ๒๓๔๔ พรรษา จุลศักราช ๑๑๖๓ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีนั้นมีพระพี่เป็นบุรุษ ๑ เป็นหญิง ๒ บุตรหลานของท่านเหล่านั้นยังเป็นราชินิกูลทำราชการอยู่ตราบเท่านทุกวันนี้

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) หมายถึงชนบท หรือ เขตรอบนอกพระนคร

(๒) หมายถึง นางใน
(ผมชักจะเบื่อไอ้สำนวนแบบนี้เสียแล้ว อีกทั้งยืดเยื้อเยิ่นเย้อ คนแทรกสำนวนน่าจะเป็น “พวกแก่วัด”-สอบในประชุมพงศาวดารแล้ว ไม่ใช่แกล้งว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนะ เพราะศัพท์พิลึกเหล่านี้ไม่ใช่พระราชนิพนธ์)

(๓) ค้นในสาส์นสมเด็จ (ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์) พบว่า

….เกล้ากระหม่อมถูกเจ้าพระยาธรรมาถามว่า สมเด็จพระอมรินทร์มีพระนามเดิมว่าอย่างไร เกล้ากระหม่อมก็จน ตอบท่านว่า ตำราราชสกุลวงศ์สิ ท่านบอกว่า ไม่มี เกล้ากระหม่อมกลับมาถึงบ้านก็เปิดตำราราชสกุลวงศ์สอบดู ไม่มีจริง แล้วย้ายไปเปิดตำราราชินิกุลบางช้างดู ก็ไม่มีเหมือนกัน ตั้งใจจะทูลถามฝ่าพระบาท แต่ยังไมถึงกำหนดเวลาเขียนหนังสือ พระยาเทวาก็แจ้งรายงานว่าท่านถามพระยาเทวา-แปลว่าท่านค้นเกล้ากระหม่อมไม่ได้แล้วท่านก็ไปค้นที่พระยาเทวา พระยาเทวาก็ค้นหาไปได้ความในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งตีพิมพ์แจกงานศพหม่อมเจ้าปียภักดีนารถว่าพระนาม นาค ก็หนังสือฉบับนั้นเป็นที่เกิดถ้อยร้อยความ ตามที่ได้ตรัสเล่าให้ทราบแล้ว จะควรเชื่อว่าจริงดังนั้นหรือไม่ เรื่องพระนามเดิมนั้น มีหลายพระองค์ที่ต่างคนต่างรู้มาไม่เหมือนกัน ติดจะฟังยาก…

สมเด็จฯกรมพระยาสนองลายพระหัตถ์ในฉบับลงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ว่า

…พระนามเดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์นั้นว่า นาก…จะกล่าวด้ยความประพัทธ์ประพันธ์สืบสันตติวงศ์ในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งมีสมเด็จพนระบรมมหาไปยกาธิบดีเป็นปฐมพัทธ์ขั้วเค้าสืบมา

๑. สมเด็จพระเทพสุดาวดี ได้มีพระโอรส ๓ พระองค์ คือ

พระองค์ใหญ่ซึ่งเมื่อตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยานี้ ได้เป็นเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ แล้วเลื่อนที่เป็นกรมพระราชวังหลัง เป็นที่ ๑
เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ เป็นที่ ๒
เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ เป็นที่ ๓ (ต้นสกุล นรินทรางกูร)
กับพระธิดาพระองค์หนึ่งชือ เจ้าฟ้าหญิงทองคำ ได้เป็นเจ้ากรมฝ่ายในรวมอยู่ในกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี ไม่มีเจ้ากรมต่างหาก เป็นที่ ๔

๒. พระเจ้าขุนรามณรงค์ นั้น เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย มีพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้วสิ้นพระชนม์เสีย พระธิดานั้นคือ พระองคืเจ้า กรมขุนรามินทรสุดา

๓. กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ นั้น มีพระโอรส ๓ พระธิดา ๒ เป็น๕ พระองค์คือ
เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เป็นที่ ๑ (ต้นสกุล เทพหัสดิน)
เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี เป็นที่ ๓ (เจ้าฟ้าหญิงฉิม)
กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งมีกำหนดสมัยกาลประสูติเป็นพราหสมพัตสร นพศก ภัทรบทมาส กาฬปักษ์ ทวาทสีดิถี รวิวาร เป็นปริจเฉทกาลกำหนด พระพุทธศาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา จุลศักราช ๑๑๒๙ เป็นที่ ๓
เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เป็นที่ ๔ (ต้นสกุล มนตรีกุล)
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นที่ ๕

๔. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชโอรสแลพระราชธิดาแต่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ถึง ๑๐ พระองค์ คือ
พระองค์เป็นปฐม เป็นพระบุตรี
พระองค์เป็นที่ ๒ เป็นพระกุมาร สองพระองค์นี้สิ้นพระชนม์เสียแต่ก่อนกาลกรุงศรีอยุธยายังมิได้แตกทำลาย
พระองค์ที่ ๓ เป็นพระบุตรี คือสมเด็จพระปฐมบรมวงศ์ ซึ่งเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เป็นพระราชชายาพระองค์หนึ่งของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ประสูติพระกุมารเจ้าฟ้าลูกเธอของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วไม่ช้าก็สิ้นพระชนม์ล่วงไป
ที่ ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งมีกำหนดสมัยกาลประสูติเป็นพราหสมพัตร นพคุณมาส ชุษณปักษสัปตมีดิถี พุทธวาร เป็นปริจเฉทกาลกำหนด พระพุทธศาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา จุลศักราช ๑๑๒๙
เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ นับว่าเป็นที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(๑) นับว่าเป็นที่ ๖
เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี นับว่าเป็นที่ ๗
ยังมีอีก ๓ พระองค์ สิ้นพระชนมแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่ปรากฎพระนามแลลำดับว่าเป็นสถานใดในระวางใดพระองค์ใด แลพระราชบุตรพระราชบุตรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่ประสูติแต่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทั้ง ๑๐ พระองค์นี้ประสูติก่อนแต่เวลาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทั้งสิ้น ก็เมื่อเวลาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นยังคงได้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าแต่ ๔ พระองค์ คือ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร แล้วภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ๑
พระราชบุตรีพระองค์ใหญ่ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระองค์ ๑
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ แล้วภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบัณฑูรน้อย พระองค์ ๑
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าประภาวดี แล้วภายหลังเลื่อนเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี พระองค์ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังมีพระราชโอรสพระราชธิดาพระองค์อื่นกับบาทบริจาริกาข้าหลวงเดิม แต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบ้าง ยังสนมนารีมีศักดิ์ต่างๆเมื่อเสด็จสถิตย์ในราชสมบัติบ้างมากมายหลายพระองค์ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์บ้าง ได้ทรงพระเจริญอยู่มานานได้เป็นใหญ่ในราชการแผ่นดินต่อๆมาบ้าง คงอยู่แต่ตามบรรดาศักดิ์พระองค์เจ้าไม่ได้ทรงทำราชการเป็นแผนกบ้าง ครั้นจะออกพระนามนั้นไปเป็นลำดับทางกถานี้ ก็จะพิสดารมากไป แล้วจะสับสนขวักไขว่ข้างในข้างหน้า และพระองคที่ปรากฏควรปรากฏ แลพระองค์ที่ไม่ปรากฏไม่ควรปรากฏนั้นจะสับสนพันพัวกันนัก จะสังเกตยาก เพราะฉะนั้นจะขอกำหนดออกพระนามแต่พระองค์ที่ได้เป็นใหญ่ในตำแหน่งราชการปรากฏ แลไม่มีความผิดในราชการ ควรจะนับถือว่าพระนามนั้นเป็นมงคล พระราชโอรสซึ่งได้เป็นเจ้าต่างกรมมีราชการอยู่ได้บังคับงานในแผ่นดินนั้นแลแผ่นดินลำดับมา ควรที่จะนับแต่ ๑๑ พระองค์ คือ
๑. พระองค์เจ้าทับทิม เป็นกรมหมื่นอินทรพิพิธ ได้ว่ากรมพระนครบาล แล้วภายหลังได้ว่ากรมแสงใหญ่
๒. พระองค์เจ้าอภัยทัต เป็นกรมหมื่นแล้วเป็นกรมหลวงเทพพลภักดิ์ เจ้าจอมมารดาเป็นพระสนมเอก (บุตรีพระยาจักรีเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งเจ้าเมืองขึงแข็งตั้งตัวเป็นเจ้านั้น) ได้ว่ากรมคชบาลแลการอื่นๆบ้าง
๓. พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ เจ้าจอมมารดาเป็นพระสนมเอก(ได้เป็นเจ้าได้เวลาหนึ่ง เพราะเป็นบุตรีเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี(ทัด) แลมารดานั้นเป็นบุตรีเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้านครนั้น ครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายแล้วใหม่นั้น) แลพระองค์เจ้าพระองค์นี้ได้เป็นใหญ่เป็นอธิบดีว่าราชการกรมพระกลาโหม แลหัวเมืองปากใต้ทั้งปวงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงเป็น กรมพระราชวังบวนสถานมงคล
๔. พระองค์เจ้าทับ เป็นกรมหมื่นจิตรภักดี ว่าราชการกรมช่างสิบหมู่
๕. พระองค์เจ้าสุริยา เป็นกรมหมื่นแล้วเป็นกรมขุน แล้วภายหลังเลื่อนเป็นกรมพระรามอิศเรศ ได้ว่าราชการต่างๆไม่เป็นตำแหน่ง ว่าความตามรับสั่งบ้าง เป็นแม่กองทำการงานบ้าง
๖. พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชได้ ๔ พรรษาแล้วเป็นอธิบดีสงฆ์ แล้วได้เลื่อนเจ้าต่างกรมมีพระนามว่ากรมหมื่นุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติวงศ์ พระองค์นั้นเป็นอัจฉริยบุรุษรัตนอันพิเศษ ทรงพระปรีชาฉลาดในพระพุทธศาสน์ แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ แลได้เป็นอุปัชฌาย์อาจาริย์เจ้าฟ้าแลพระองคืเจ้า หม่อมเจ้า ในพระบรมราชวงศ์นี้มากหลายพระองค์ ภายหลังเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ได้เลื่อนเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ฯ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนาถบพิตร เสด็จสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง พระองค์ ๑
๗. พระองค์เจ้าฉัตร เป็นกรมหมื่นสุรินทรารักษ์ ได้ว่าราชการกรมพระนคารบาลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ว่าราชการกรมมหาดไทย เป็นที่ทรงปรึกษาว่าราชการแผ่นดิน
๘. พระองค์เจ้าสุริยวงศ์ เป็นพระองค์เจ้าพระเคราะห์ร้าย สบายบ้างไม่สบายบ้างแต่เดิมมา ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัครไปทำราชการในบวนราชวังได้เป็นกรมหมื่นสวัสดิวิไชย ว่าราชการทุกแทบทุกตำแหน่ง ครั้นอยู่มาในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ กลับลงมาทำราชการในพระบรมมหาราชวังได้เป็นกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย
๙. พระองค์เจ้าดารากร เป็นกรมหมื่นศรีสุเทพ ว่าราชการกรมช่างสิบหมู่
๑๐. พระองค์เจ้าดวงจักร เป็นพระองคืเจ้าพระเคราะห์ร้าย สบายบ้างำไม่สบายบ้าง แต่แข็งแรงได้ราชการเป็นกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ ว่าราชการช่างหล่อ
๑๑. พระองค์เจ้าสุทัศน์ เป็นกรมหมื่นไกรสรวิชิต ได้ว่าราชการคลังเสื้อหมวก คลังสุภรัตน แลกรมสังฆการี กรมธรรมการ

พระราชธิดาซึ่งควรจะกำหนดออกพระนามนั้นควรนับ ๙ พระองค์ คือ
๑. พระองค์เจ้านุ่ม เป็นผู้ใหญ่กว่าทุกพระองค์บรรดาซึ่งมีพระชนม์อ่อนกว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีลงมา เจ้าจอมมารดาเป็นเจ้าจอมข้าหลวงเดิม (เป็นญาติพระยานครศรีธรรมราช(ทองอิน)) พระองค์เจ้าพระองค์นี้ได้ทำราชการข้างใน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๒. พระองค์เจ้าพลับ พระองค์หนึ่ง เป็นกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา พระราชทานมอบให้กรมพระศรีสุดารักษ์ทำนุบำรุงมา มีพระชนม์ยืนนานได้เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ข้างใน ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๔
๓. พระองค์เจ้าเกสร ได้ทำราชการข้างใน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๔. พระองค์เจ้าจงกล เป็นพระเชษฐภคินีของกรมหมื่นสุรินทรารักษ์ร่วมเจ้าจอมมารดา ได้ทำราชกาสดึง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๕. พระองค์เจ้ามณฑา
๖. พระองค์เจ้ามณี
๗. พระองค์เจ้าดวงสุดา สามพระองค์มีพระชนม์อยู่มายืนนานได้เป็นพระบรมวงศ์เธอผู้ใหญ่ในแผ่นดินของรัชกาลที่ ๔
๘. พระองค์เจ้าศศิธร ได้ทำราชการเป็นครูชัก แลสอนพระองค์เจ้าสวดมนต์ในหอพระพุทธรูปข้างใน
๙. พระองค์เจ้าจันทบุรี ภายหลังเลื่อนเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เพราะเจ้าจอมมารดาซึ่งเป็นสนมเอกนั้นเป็นเชื้อเจ้าเมืองลาว คือเป็นพระธิดาเจ้าเวียงจันทร์(อินทวงศ์) เจ้าฟ้าพระองคืนี้ได้เป็นพระบรมราชชายานารีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเจ้าฟ้า ๔ พระองค์ ซึ่งจะนับเอาพวกข้างหน้าต่อไป

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) คือ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
๕. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นั้น เมื่อก่อนกรุงศรีอยุธยายังไม่แตกทำลายนั้นก็ยังไม่มีพระโอรสพระธิดา ครั้นมาเมื่อแผ่นดินเจ้ากรุงธรบุรี ได้มีนารีหนึ่งมาเป็นพระชายา ประสูติพระโอรสแลพระธิดา พระองค์หนึ่งหรือสองพระองค์ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ แล้วนารีนั้นก็เลิกร้างร้าวฉานไปไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ครั้นภายหลังจึงได้นารีสาวชาวเชียงใหม่ ชื่อเจ้าศิริรดจา เป็นธิดาเจ้าเชียงใหม่คนเก่ามาเป็นพระอัครชายา ประสูติพระธิดาพระองคืหนึ่ง ชื่อเจ้าฟ้าพิกุลทอง ซึ่งภายหลังเป็นกรมขุนศรีสุนทร ควรจะนับว่าเป็นพระธิดาผู้ใหญ่กว่าทั้งปวง แลได้มีพระราชบุตรีแลพระราชบุตรีแต่นารีบาทบริจาริกาแลพระสนมนางในอีกหลายพระองค์ แต่ครั้นยังไม่ได้เฉลิมอุปราชาภิเษกบ้าง เมื่อเฉลิมอุปราชาภิเษกแล้วบ้าง จะขอออกพระนามแต่องค์ที่เป็นสำคัญปรากฏ ควรเป็นที่นับถือควรเป็นต้นวงศ์ของเจ้าฟ้า แลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ต่อลงมาในชั้นหลังๆนั้น

พระราชบุตรนั้นคือ กรมหมื่นเสนีเทพ ๑ กรมขุนนรานุชิต ๑ สองพระองค์นี้ได้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมมีพระบุตรพระบุตรีเป็นหม่อมเจ้าชาย หม่อมเจ้าหญิงสืบลงมามาก พระราชบุตรีนั้นคือ พระองค์เจ้าดวงจันทร์พระองค์ ๑ เป็นผู้ใหญ่ กับพระองค์เจ้าดุสิดาอับสร ๑ สองพระองค์นี้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิฅศหล้านภาลัยได้ทำราชการอยู่ในพระบวรราชวัง ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรเสด็จสวรรคตแล้ว ได้ลงมาทำราชการอยู่ในบรมมหาราชวังอยู่จนสิ้นแผ่นดิน พระองค์เจ้าดาราวดีอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทำราชการอยู่ในพระบวรราชวังเหมือนกันกับพระองค์เจ้าดวงจันทร์ ครั้นกรมพระราชวังบวรเสด็จสวรรคตแล้ว จึงกรมพระราชวังบวรในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเวลานั้นยังเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพได้ให้กราบทูลขอแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไปเป็นพระชายา ประสูติบุตรพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรพระองค์นั้นได้อุปราชาภิเษกแล้ว พระองค์เจ้าดาราวดีก็ได้มีอำนาจเป็นใหญ่ การข้างในทั้งปวงในกรมพระราชวัง จึงได้ปรากฏพระนามต่อต่อภายหลังรู้เรียกกันว่า ทูลกระหม่อมข้างใน พระองค์เจ้าประทุมราชพระองค์หนึ่ง เจ้าจอมมารดาเป็นพระน้านางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๖. กรมหลวงนรินทรเทวี นั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้กรมหมื่นนรินทร์พิทักษ์ ซึ่งคนเป็นอันมากเรียกว่ากรมหมื่นมุกนั้นเป็นภัสดา ได้ประสูติพระบุตรพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าชาย ฉิม (กรมหลวงนรินทรเทพ) แล้วมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประสูติพระบุตรอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าชาย เจ่ง (กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์) กรมหมื่นซึ่งเป็นบุตรนั้นก็ได้เป็นต้นวงศ์ของหม่อมเจ้าชายหญิงเป็นอันมากสืบลงมา

๗. กรมหลวงจักรเจษฎา นั้น ไม่ได้ทีพระชายาเป็นสำคัญ มีแต่หญิงบาทบริจาริกาเป็นอันมาก ประสูติหม่อมเจ้าชายหม่อมเจ้าหญิงก็เป็นอันมาก แต่ควรจะออกชื่ออยู่องค์หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าสวน ซึ่งทรงผนวชมาแต่อายุ ๒๐ ปี ได้เล่าเรียนพระคัมภีร์พระพุทธวจนะอยู่บ้าง ภายหลังได้เลื่อนเป็นหม่อมเจ้าราชาคณะ ปรากฏนามว่าพระสิลวราลังการ ได้เป็นอธิบดีสงฆ์ในวัดชนะสงคราม

ด้วยทางกถามีประมาณเท่านี้ เป็นอันพรรณนาถึงพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งออกจากพระโอรสธิดาของสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดี ๗ พระองค์ ซึ่งเป็นต้นแซ่ต้นสกุลสืบลงมานับว่าเป็นชั้นสาม เพราะสมเด็จพระบรมมหาไปยกาธิบดีถ้านับว่าเป็นชั้นต้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแลพระญาติเสมอยุคหกพระองค์นั้น ก็ควรนับว่าเป็นชั้นสอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแลพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นสนามยุคพวกนี้ จึงควรนับว่าเป็นชั้นสาม ดังพรรณนามานี้แล
(แต่นี้ไป คัดจากพระราชนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ใน ประชุมพงศาวดาร ภาค ๘ ปฐมวงศ์)

จะขอกล่าวถึงความประวัติเป็นไปต่างๆในโลกนี้ จยถึงกาลเมื่อละโลกนี้ล่วงไปยังปรโลก ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นบุรพบุรุษในพระบรมราชวงศ์อันนี้ซึ่งเป็นชั้นต้น คือสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี และสมเด็จพระปัยยิกาใหญ่ และสมเด็จพระปัยยิกาน้อย ๓ พระองค์ และชั้นสองคือ พระเอารส พระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์ ดังออกพระนามมาแต่ก่อนตามกำหนดประวัติเวลาของพระองค์นั้นๆเรียงไปตามลำดับโดยสังเขป เพื่อจะให้ผู้อ่านผู้ฟังได้สติปลงพระไตรลักษณปัญญา ปลงเห็นอนิจจลักษณ ทุกขลักษณ อนัตตลักษณ เพราะได้สดับเรื่องนี้จะได้ไม่ปราศจากประโบยชน์ในทางภาวนามัยกุศล ซึ่งเป็นกุศโลบายอันใหญ่อันงามกว่ากุศลอื่นๆ

สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่าได้ดำรงพระชนมายุและสุขสมบัติครอบครองสกุลใหญ่ และมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนาน จนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพฯทวาราวดีศรีอยุธยา ในคราวที่กรุงเเตกทำลายนั้น ฯ

สมเด็จพระปัยยิกาองค์ใหญ่ ได้มีพระเอารสพระธิดา ๕ พระองค์แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระปัยยิกาพระองค์น้อย ได้รับปรนนิบัติสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีในที่นั้นต่อมา ได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้ว จะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเป็นแน่ไม่ ได้ความเป็นแน่แต่ว่า เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีมีพระดำริจะออกจากกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา หลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารสพระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้น ได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเป็นห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้วคุมเป็นพวกใหญ่ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่องจึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริกา ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ได้ปรนนิบัติแด่เจ้าเมืองพระพิษณุโลก ซึ่งทราบไปว่ากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาอยู่ในเนื้อมือพม่าข้าศึกแล้ว ก็ถืออำนาจตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่ขึ้นในเวลานั้น ได้ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาธิบดี ฯ

เจ้าเมืองพระพิษณุโลกนั้นมีจิตกำเริบ บังคับให้ทอดโฉนดบาดหมาย อ้างบังคับของตนเรียกว่า พระราชโองการ โดยไม่มีการพิธีราชาภิเษก อยู่ได้ ๗ วันก็ถึงแก่พิราลัย ก็เมื่อเจ้าเมืองพระพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยแล้ว องค์สมเด็จพระปัยกาธิบดีจะทรงปรนนิบัติอยู่ประการใด ความไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่าภายหลังทรงพระประชวรแล้วเสด็จสวรรคตอยู่ในเมืองพระพิษณุโลก เมื่อเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายแล้วมิได้นาน กำลังบ้านเมืองยังเป็นจลาจลอยู่นั้น จึงพระโอรส คือ กรมหลวงจักรเจษฎากับหม่อมมารดาซึ่งตามเสด็จไปด้วยนั้น ได้มีความกตัญญูกตเวที ได้จัดการถวายพระเพลิงตามกำลังที่จะทำได้ แล้วได้เชิญพระบรมอัฐิกับพระมหาสังข์อุตราวัฏ ซึ่งเป็นของสำหรับสกุลสืบมาแต่ก่อนเป็นสำคัญคืนนำกลับลงมา ได้ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งเสด็จอยู่วังบ้านหลวงในกรุงธนบุรี เมื่อแผ่นดินกรุงเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ของกรมหลวงจักรเจษฎา(๑) และคุณมาซึ่งเป็นหม่อมมารดาอยู่นั้น ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงได้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้นใส่โกศทองคำประดับด้วยพลอยทับทิมตั้งประดิษฐานใหหอพระที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังสำหรับทรงสัการบูชาทุกค่ำเช้ามิได้ขาด(๒) และสำหรับให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้กราบถวายบังคมในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนธรรมเนียมเดิม ซึงโบราณจารีตมีนิยมให้คำนับพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นปฏิมากรรูปของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีเป็นปฐม คือพระองค์สร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น และเป็นที่ถวายบังคมของพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระนครนั้นสืบๆมา จนสิ้นแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยานั้น กล่าวด้วยประวัติของท่านซึ่งเป็นบุรพบุรุษชั้นต้น สิ้นแต่เท่านี้ ฯ

กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีนั้นกับทั้งพระภัสดา พระโอรส พระบุตรี เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย จะตั้งอยู่ตำบลใดไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่าพระภัสดาของท่านพระองค์นั้นมีนามว่าหม่อมเสม ได้รับปรนนิบัติในราชการแผ่นดินเป็นที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระบวรราชวัง ได้ประสูติพระโอรส ๓ พระธิดา ๑ ซึ่งออกพระนามมาแล้วนั้น ก่อนแต่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย ก็ฝ่ายพระภัสดานั้นจะถึงแก่พิราลัยเมื่อใดไม่ทราบแน่ เป็นแต่เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีไม่มีแล้ว มีแต่สมเด็จพระเทพสุดาวดี กับพระโอรสพระธิดาทั้ง ๔ เสด็จมาประทับตั้งอยู่ที่ตำบลสวนมังคุด ซึ่งบัดนี้เป็นที่วังเก่าของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งกรมหมื่นเทวานุรักษ์ แลพหม่อมเจ้าในกรมขุนอิศรานุรักษ์ยังครอบครองอยู่นั้น แต่เวลานั้นเรียกว่าบ้านปูนตามสถานที่แต่บุราณมา ฯ

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) กรมหลวงจักรเจษฎา พระนามเดิมว่า “ลา” ปรากฏอยู่ในพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี”

(๒) ในสาส์นสมเด็จ(และตำนานวังหน้า) กล่าวว่าโปรดฯให้แบ่งพระบรมอัฐินี้ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯไว้ทรงสักการะ กรมพระราชวังบวรฯโปรดให้ทำพระวิหาร(มณฑป) บรรจุพระบรมอัฐิ ที่วัดมหาธาตุปัจจุบัน
(แต่นี้ไป คัดจากพระราชนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ใน ประชุมพงศาวดาร ภาค ๘ ปฐมวงศ์)

จะขอกล่าวถึงความประวัติเป็นไปต่างๆในโลกนี้ จยถึงกาลเมื่อละโลกนี้ล่วงไปยังปรโลก ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นบุรพบุรุษในพระบรมราชวงศ์อันนี้ซึ่งเป็นชั้นต้น คือสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี และสมเด็จพระปัยยิกาใหญ่ และสมเด็จพระปัยยิกาน้อย ๓ พระองค์ และชั้นสองคือ พระเอารส พระธิดาของสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีทั้ง ๗ พระองค์ ดังออกพระนามมาแต่ก่อนตามกำหนดประวัติเวลาของพระองค์นั้นๆเรียงไปตามลำดับโดยสังเขป เพื่อจะให้ผู้อ่านผู้ฟังได้สติปลงพระไตรลักษณปัญญา ปลงเห็นอนิจจลักษณ ทุกขลักษณ อนัตตลักษณ เพราะได้สดับเรื่องนี้จะได้ไม่ปราศจากประโบยชน์ในทางภาวนามัยกุศล ซึ่งเป็นกุศโลบายอันใหญ่อันงามกว่ากุศลอื่นๆ

สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีนั้น ทราบแต่ว่าได้ดำรงพระชนมายุและสุขสมบัติครอบครองสกุลใหญ่ และมีอำนาจในราชกิจดังกล่าวแล้วอยู่สิ้นกาลนาน จนตลอดเวลาพม่าข้าศึกเข้าล้อมกรุงเทพฯทวาราวดีศรีอยุธยา ในคราวที่กรุงเเตกทำลายนั้น ฯ

สมเด็จพระปัยยิกาองค์ใหญ่ ได้มีพระเอารสพระธิดา ๕ พระองค์แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ล่วงไปโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว แต่เมื่อสิ้นพระชนม์นั้น พระชนมายุเท่าไรไม่ทราบถนัด พระปัยยิกาพระองค์น้อย ได้รับปรนนิบัติสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีในที่นั้นต่อมา ได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่งแล้ว จะสิ้นพระชนม์เมื่อใดก็หาได้ความเป็นแน่ไม่ ได้ความเป็นแน่แต่ว่า เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเวลาที่สุดนั้น สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดีมีพระดำริจะออกจากกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา หลีกหนีข้าศึกไปอยู่ให้ห่างไกล จะชักชวนพระเอารสพระธิดาทั้งปวงตามเสด็จไปด้วยพร้อมกัน พระเอารสพระธิดาทั้ง ๖ พระองค์ ที่ทรงพระเจริญแล้วนั้น ได้แยกย้ายไปตั้งสกุลอื่น มีพระบุตร พระบุตรี เกี่ยวข้องเป็นห่วงใยพัวพันมากมาย จะรวบรวมมาพร้อมเพรียงกันแล้วคุมเป็นพวกใหญ่ออกไปโดยง่ายหาได้ไม่ เมื่อได้ช่องจึงได้พาแต่พระกุมารพระองค์น้อยกับหญิงบาทบริจาริกา ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระกุมารนั้นไปอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ได้ปรนนิบัติแด่เจ้าเมืองพระพิษณุโลก ซึ่งทราบไปว่ากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาอยู่ในเนื้อมือพม่าข้าศึกแล้ว ก็ถืออำนาจตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่ขึ้นในเวลานั้น ได้ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาธิบดี ฯ

เจ้าเมืองพระพิษณุโลกนั้นมีจิตกำเริบ บังคับให้ทอดโฉนดบาดหมาย อ้างบังคับของตนเรียกว่า พระราชโองการ โดยไม่มีการพิธีราชาภิเษก อยู่ได้ ๗ วันก็ถึงแก่พิราลัย ก็เมื่อเจ้าเมืองพระพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยแล้ว องค์สมเด็จพระปัยกาธิบดีจะทรงปรนนิบัติอยู่ประการใด ความไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่าภายหลังทรงพระประชวรแล้วเสด็จสวรรคตอยู่ในเมืองพระพิษณุโลก เมื่อเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายแล้วมิได้นาน กำลังบ้านเมืองยังเป็นจลาจลอยู่นั้น จึงพระโอรส คือ กรมหลวงจักรเจษฎากับหม่อมมารดาซึ่งตามเสด็จไปด้วยนั้น ได้มีความกตัญญูกตเวที ได้จัดการถวายพระเพลิงตามกำลังที่จะทำได้ แล้วได้เชิญพระบรมอัฐิกับพระมหาสังข์อุตราวัฏ ซึ่งเป็นของสำหรับสกุลสืบมาแต่ก่อนเป็นสำคัญคืนนำกลับลงมา ได้ทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อครั้งเสด็จอยู่วังบ้านหลวงในกรุงธนบุรี เมื่อแผ่นดินกรุงเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ของกรมหลวงจักรเจษฎา(๑) และคุณมาซึ่งเป็นหม่อมมารดาอยู่นั้น ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงได้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้นใส่โกศทองคำประดับด้วยพลอยทับทิมตั้งประดิษฐานใหหอพระที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังสำหรับทรงสัการบูชาทุกค่ำเช้ามิได้ขาด(๒) และสำหรับให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้กราบถวายบังคมในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนธรรมเนียมเดิม ซึงโบราณจารีตมีนิยมให้คำนับพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นปฏิมากรรูปของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีเป็นปฐม คือพระองค์สร้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น และเป็นที่ถวายบังคมของพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการในวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในพระนครนั้นสืบๆมา จนสิ้นแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยานั้น กล่าวด้วยประวัติของท่านซึ่งเป็นบุรพบุรุษชั้นต้น สิ้นแต่เท่านี้ ฯ

กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีนั้นกับทั้งพระภัสดา พระโอรส พระบุตรี เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย จะตั้งอยู่ตำบลใดไม่ทราบถนัด ทราบแต่ว่าพระภัสดาของท่านพระองค์นั้นมีนามว่าหม่อมเสม ได้รับปรนนิบัติในราชการแผ่นดินเป็นที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายฝ่ายพระบวรราชวัง ได้ประสูติพระโอรส ๓ พระธิดา ๑ ซึ่งออกพระนามมาแล้วนั้น ก่อนแต่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย ก็ฝ่ายพระภัสดานั้นจะถึงแก่พิราลัยเมื่อใดไม่ทราบแน่ เป็นแต่เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรีไม่มีแล้ว มีแต่สมเด็จพระเทพสุดาวดี กับพระโอรสพระธิดาทั้ง ๔ เสด็จมาประทับตั้งอยู่ที่ตำบลสวนมังคุด ซึ่งบัดนี้เป็นที่วังเก่าของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งกรมหมื่นเทวานุรักษ์ แลพหม่อมเจ้าในกรมขุนอิศรานุรักษ์ยังครอบครองอยู่นั้น แต่เวลานั้นเรียกว่าบ้านปูนตามสถานที่แต่บุราณมา ฯ

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) กรมหลวงจักรเจษฎา พระนามเดิมว่า “ลา” ปรากฏอยู่ในพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี”

(๒) ในสาส์นสมเด็จ(และตำนานวังหน้า) กล่าวว่าโปรดฯให้แบ่งพระบรมอัฐินี้ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯไว้ทรงสักการะ กรมพระราชวังบวรฯโปรดให้ทำพระวิหาร(มณฑป) บรรจุพระบรมอัฐิ ที่วัดมหาธาตุปัจจุบัน
กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีได้ถวายพระโอรสพระธิดาให้ทรงทำราชการฝ่านหน้าฝ่ายในในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี และได้พึ่งพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นทั้งสองพระองค์ ซึ่งได้ทำราชการในตำแหน่งมีอำนาจใหญ่ในเวลานั้นด้วย จึงได้คุ้นเคยเฝ้าแหนได้ในเจ้ากรุงธนบุรีเนื่องๆ

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้นเมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาได้พระภัสดาเป็นบุตรที่ ๔ ของมหาเศรษฐีซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อวงศ์ลงมาแต่มหาเสนาบดีเมืองปกื่ง แต่ครั้งแผ่นดินเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจซึ่งเป็นพระเจ้าปกิ่งที่สุดในวงศ์หมิง ครั้นพระเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจเสียเมืองแก่พวกตาดแล้ว ท่านเสนาบดีนั้นกับเสนาบดีอื่นหลายนายไม่ยอมตัดผมมวยไว้หางเปียตามพวกตาด จึงได้หนีออกจากแผ่นดินจีนมาอยู่ในแผ่นดินญวนบ้าง แผ่นดินไทยบ้าง สืบสกุลต่อมาเป็นจีนอย่างเก่า ไม่ได้ไว้หางเปีย

พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศีสุดารักษ์นั้น มีนามว่า เจ้าขรัวเงิน มีพี่หญิงชื่อท่านนวล ๑ ท่านเอี้ยง ๑ มีพี่ชายชื่อเจ้าขรัวทอง ๑ ได้ตั้งนิวาสฐานอยู่ตำบลถนนตาล เป็นพานิชใหญ่ ขาวกรุงเก่าเรียกว่า เศรษฐีถนนตาล ในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานคร พระมารดาของพระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เป็นน้องร่วมมารดากับภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(๑) ว่าที่โกษาธิบดีในแผ่นดินพระบาทสมเด็จบรมธรรมิกมหาราชาธิราช ภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซึ่งเป็นป้าของพระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น มีบุตรกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้หนึ่งชื่อนายฤทธิ์(๒) นายฤทธิ์เมื่อเจริญเป็นหนุ่มแล้ว เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ผู้บิดาได้สู่ขอหม่อมบุนนาค เป็นบุตรพระยาวิชิตณรงค์เจ้ากรมเขนทองซ้ายมาให้เป็นภรรยา ได้แต่งงานอาวาหวิวามงคลกัน พระยาวิชิตณรงค์นั้น เป็นพี่ชายร่วมมารดากับเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งได้สำเนร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ตลอดเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ครั้นกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายเสียแล้ว ได้ตั้งตนเป็นเจ้านั้น ฯ

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย ได้มีพระโอรส ๒ พระธิดา ๑ ซึ่งออกพระนามในข้างต้นแล้วนั้น ครั้นเมื่อ ปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ พระพุทธศาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา พวกพม่าข้าศึกเข้ามารุกรานทำลายล้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสีย ได้ชาวพระนครทั้งปวงซึ่งมีครอบครัวสกุลต่างๆพากันแตกแยกย้ายกระจัดกระจายหนีไป ครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทรงพระครรภ์อยู่ได้ ๔ เดือนเศษแล้ว พร้อมกันกับพระภัสดากับพระธิดาตามเสด็จสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกออกไปอาศัยอยู่ด้วย ในนิวาสถานที่เดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวาพาหิรุทยานประเทศ ครั้นถึงวันกาฬปักษ์ดิถีที่สิบสอง นับเบื้องหน่าแต่โปฐบทบุรณมี มีอาทิตยวารเป็นกำหนด จึงได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้นับโดยลำดับว่าเป็นที่ ๔ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์

ครั้นนั้งเจ้าคุณชีโพ ผู้เป็นพระน้องนางของสมเด็จพระพระอมรินทรามาตย์ได้รับอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยง เป็นเหตุให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้ทรงนับถือว่า เป็นพระมารดาเลี้ยงมา ครันเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเข้ามาปรนนิบัติราชการ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระภัสดาและพระ(พระโอรสและพระธิดา–ฉบับตกจึงเอาฉบับอื่นมาแทรกครับ–กัมม์) ก็ได้ตามเสด็เข้ามาตั้งนิวาสถานบ้านเรือนโรงแพอยู่ที่ตำบลกฎีจีน ที่นั้นบัดนี้เป็นพระวิหารและหอไตรวัดกัลยาณมิตร แพลอยลงในคลองแม่น้ำใหญ่ตรงวัดโมฬีโลก ฯ

แต่กรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสใหญ่ของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อเวลากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายนั้น ทรงผนวชเป็นสามเณรตามพระอาจารย์ไปทางอื่น ได้ลาผนวชกลับมายังสกุล เมื่อมาตั้งอยู่ในตำบลนี้แล ฯ

ฝ่ายนายฤทธิ์บุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เมื่ออยู่กับหม่อมบุนนาคภรรยามีบุตรหยนึ่งชื่อ หม่อมอำพัน ครั้นเมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาแตกทำลายแล้ว พาบุตรภรรยาหนีไปเมืองนครศรีธรรมราช เข้าพึ่งอาศัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ตั่งบ้านเรือนอยู่ตำบลบ้านสามอู่ เหนือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ครั้งนั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อจะตั้งตัวเป็นเจ้าได้ปรึกษาขนบธรรมเนียมต่างๆกับนายฤทธิ์ผู้เป็นหลานเขย เพราะนายฤทธิ์เป็นบุตรท่านเสนาบดีผู้ใหญ่เข้าใจมาก ในขนบธรรมเนียมราชการแผ่นดิน เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีความยินดีต่อสติปัญญาความคิดอ่านของนายฤทธิ์มากนัก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้วจึงตั้งนายฤทธิ์ให้เป็นกรมพระราชวัง เรียกกันว่าวังหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านบุนนาคเรียกว่าเจ้าครอกข้างใน หม่อมเจ้าอำพันนั้นเป็นพระองคืเจ้าอำพัน กิตติศัพท์นั้นทราบมาถึงพระภัสดาของกรมสมเด็จพระสรีสุดารักษ์ จึงมีความดำริไม่เห็นชอบด้วยนายฤทธิ์ผู้เป็นญาติ ซึ่งเป็นหลานเขยเจ้านครศรีธรรมราช มิใช่ญาติอันสนิทเข้าไปรับที่ตำแหน่งใหญ่ นานไปภายหน้าเห็นว่าภัยจะบังเกิดมี อนึ่งนั้นก็ได้ทราบความประสงค์ของเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จะยกกองทัพออกไปตีปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราชสักเวลาหนึ่ง เมื่อว่างราชการทัพรบกับพม่า กลัวว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง นายฤทธิ์จะพลอยตายด้วยเจ้านครศรีธรรมราช มีความประสงค์จะออกไปลองใจนายฤทธิ์ซึ่งเป็นวังหน้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ยังจะนับถือว่าเป็นญาติอยู่หรือหาไม่ ถ้านับถือรับรองดี ก็จะว่ากล่าวให้สติเสียให้รักษาตัว ด้วยเหตุนี้พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ได้มอบถิ่นฐานบ้านเรือนทาสกรรมกรทั้งปวง ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ซึ่งเป็นบุตรผู้ใหญ่อยู่รักษา แล้วพากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระธิดาใหญ่น้อยสองพระองค์ กับชายหญิงสองสามคนลงเรือทะเลแล่นล่องลงไปเมืองนครศรีธรรมราช ในฤดูลมว่าวปลายปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ ครั้นไปถึงแล้วก็ขึ้นไปเมืองนครศรีธรรมราช นั่งอยู่ที่ริมทาง เมื่อวังหน้าเมืองนครจะมีที่ไป ครั้นเมื่อเสลี่ยงวังหน้าเมืองนครมาใกล้ ก็กระแอมไอให้เสียงเป็นสำคัญ วังหน้าเมืองนครได้เห็นแล้วก็มีความยินดี ลจากเสลี่ยงออกมารับแล้วปราศรัยโดยฉันญาติ แล้วพาไปที่อยู่พร้อมกัยสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ และพระธิดาสองพระองค์ ครั้งนั้นวังหน้าเมืองนครชวนจะให้อยู่ด้วย และว่าจะพาไปให้เฝ้าเจ้านครศรีธรรมราช พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไม่เห็นด้วยไม่ยอมเข้าไปหาเจ้านครศรีธรรมราชและไม่ยอมอยู่ด้วย ขอให้ปิดความเสีย แล้วให้สติดังคิดไปนั้นทุกประการ วังหน้าเมืองนครก็เห็นชอบด้วย ได้รับว่าภายหลังจะค่อยคิดอ่านเอาตัวออกหากให้พ้นภัยตามความคิดนั้น ครั้งนั้นชาวเมืองนครศรีธรรมราชบางพวกกระซิบเล่าลือกันว่า ผู้ซึ่งออกไปจากกรึงธนบุรีนั้น เป็นผู้แสเจ้ากรุงธนบุรีไปเกลี้ยกล่อมวังหน้าเมืองนครศรีธรรมราชให้เป็นไส้ศึด ฯ

ด้วยเหตุที่กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระภัสดามีความสะดุ้ง รีบลาวังหน้าเมืองนครศรีธรรมราชกลับเข้ามากรุงธนบุรีในฤดูลมสำเภาปลายปีชวดสัมฤทธิศกกับฉลูเอกศกต่อกัน ครั้งนั้นเจ้ากรุงธนบุรีทราบว่า พระภัสดาของกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ออกไปเมืองนครศรีธรรมราชกลับเข้ามถึงใหม่ ก็ให้มีผู้รับสั่งไปหามาซักไซ้ไต่ถามข้อราชการ ก็ได้มาให้การว่าเป็นแต่ยากจนก็หาสิ่งของเป็นสินค้าขาย และได้ให้การข่าวบ้านเมืองตามเห็นเล็กน้อยโดยสมควร ความซึ่งว่าได้ไปพบวังหน้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นไม่ได้ให้การ เจ้ากรุงธนบุรีจึงดำริว่าเมื่อใดว่างราชการทัพกับพม่า จะได้ยกไปเมืองนครศรีธรรมราช จะให้พระภัสดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เป็นผู้นำทัพนำทาง ฝ่านพระภัสดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไม่ปรารถนาจะอาสาเจ้ากรุงธนบุรีดังนั้น จึงบอกป่วยว่าเป็นง่อยเสียก่อนแต่เริ่มการทัพเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้จึงมิได้ทำราชการเป็นตำแหน่งใดในแผ่นดินนั้นเลย

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรีได้ประสูติพระโอรสอีกสองพระองค์ซึ่งออกพระนามมาข้างหลังนั้นแล้ว ในปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ พระองค์หนึ่ง ปีมะเส็งเบญจศก จุลศักรา ๑๑๓๕ พระองค์หนึ่ง พระภัสดากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ในเวลาเป็นกลางแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทั้งสองพระองค์ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่าพระตำหนักใญ่ ได้ว่าราชการเป็นใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง และว่าการวิเศษใน พระคลังเงิน พระคลังทอง และสิ่งของต่างๆในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น มีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระวิมานรัตยา เรียกว่าพระตำหนักแดง ได้ทรงราชการทรงกำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเศษต้น และการสะดึงและอื่นๆเป็นหลายอย่าง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีและกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทั้งสองพระองค์นั้น ได้เสด็จดำรงพระชนม์อยู่มานานในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถึง ๑๕ ปี ครั้เนปีมะแมเอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑ ทั้งสองพระองค์นั้นทรงพระประชวรพระโรคชรา กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์พระชนมายุ ๖๐ ปีเศษ ยังไม่ถึง ๗๐ เสด็จทิวงคตลงก่อน ล่วงไปได้ ๓ เดือนเศษ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีมีพระชนมายุได้ ๗๐ ปีเศษ ไม่ถึง ๘๐ เสด็จทิวงคต พระศพไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยกัน ได้ถวายพระเพลิงพร้อมกัน

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) ในประชุมพงศาวดาร ภาค ๑๕ กล่าวว่าเดิมของท่านว่า “อู่” เป็นผู้มีชื่อเสียงในแผ่นดินพระบรมราชา “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ครั้งกรุงเก่า เมื่อถึงอสัญกรรมโปรดฯให้เรียกพระศพ และเจ้าพระยาสุรินทราชานี้เป็นบุตรเรียงพี่เรียงน้องกับท่านขรัวเงิน ภายหลังมาปรากฏนามว่าท่านขรัวก๋ง ทางฝ่ายมารดา

(๒) “นายฤทธิ์” เป็นชื่อบรรดาศักดิ์ จากสำเนาลายพระหัตถ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึง หลวงศรีวรวัตร ผู้เรียบเรียง พงศาวดารเมืองพัทลุง ความว่า

…เรื่องประวัติของเจ้าพระยาสุรินทราชานั้น ก็สอบได้ความแจ่มแจ้งเป็นดังนี้ คือ
เจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นบุตร(ที่ ๓)เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ มารดาของเจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นพี่มารดาเจ้าขรัวเงิน เจ้าพระยาสุรินทราชาได้ธิดาของพระยาวิชิตณรงค์(ซึ่งเป็นพี่ชายเจ้านคร)เป็นภรรยา จึงเกี่ยวดองกับเจ้านคร เป็นหลานเขย เรื่องชื่อตัวนั้นเห็นจะชื่อ จันทร์ ที่เรียกว่านายฤทธิ์ เพราะเป็นหลวงฤทธิ์นายเวรมหาดเล็ก แต่ก่อนเรียกกันแต่ว่า “นายฤทธิ์” ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเรียกพระเสน่หาภูธรเมื่อยังเป็นหลวงนายฤทธิ์ ก็เรียกแต่ว่า “นายฤทธิ์” เจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นอุปราชเมืองนครนั้นเป็นแน่ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจับเข้ามาได้ ไม่เอาโทษตั้งให้เป็นพระยาศรีอรรคราช….
กรมขุนรามินทรสุดา พระธิดาในพระเจ้าขุนรามณรงค์

เรื่องของพระองค์ท่านดูเหมือนจะสูญไปในพระราชนิพนธ์นี้ก็ขอยกมาแทรกไว้ตรงนี้เลยนะครับ
(คัดจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ในตอน เมืองทวายสวามิภักดิ์)

…ในปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๑๕๓ นั้น ฝ่ายข้างเมืองทวาย พระเจ้าอังวะตั้งขุนนางลงมาเป็นเจ้าเมืองกรมการ อยู่รักษาเมืองทวาย จะให้เปลี่ยนเจ้าเมืองกรมการเก่าออกและให้หาเจ้าเมืองกรมการเก่านั้นกลับขึ้นไป ส่วนแมงจันจาเจ้าเมืองทวายเก่ากับจิกแคปลัดเมืองนั้น ได้แจ้งข่าวว่าเจ้าเมืองกรมการตั้งลงมาผลัดใหม่ จึงคิดกันไม่ยอมกลับไปเมืองอังวะ ครั้นเจ้าเมืองกรมการใหม่มาใกล้จะถึงเมือง จึงคิดเป็นกลอุบายออกไปต้อนรับแต่นอกเมือง ให้จัดสิ่งของเลี้ยงออกไปเลี้ยงให้กินอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ก็ให้ทหารเข้าล้อมจับฆ่าเสียสิ้น แล้วกลับเข้าเมืองคิดการกบฏตั้งแข็งเมืองอยู่

ฝ่ายกรมการเมืองเมาะจะมะแจ้งว่าแมงจันจาคิดการกบฏฆ่าเจ้าเมืองกรมการซึ่งมาผลัดใหม่นั้นเสีย จึงมีหนังสือบอกขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะๆได้ทราบก็ทรงพิโรธ จึงให้จับสะดุแมงกองบิดาแมงจันจาเจ้าเมืองทวายจะให้ประหารชีวิตเสีย สะดุแมงกองจึงกราบทูลว่า จะขอมีหนังสือไปถึงบุตรให้มาเฝ้า แม้นไม่มาจึงจะรับพระอาญาตามโทษ พระเจ้าอังวะก็ให้งดไว้แล้ว ให้จำสะดุแมงกองกับภรรยาให้ข้าหลวงคุมตัวลงมาเมืองเมาะตะมะให้มีหนังสือไปถึงบุตร

ฝ่ายพระยาทวาย
คิดกลัวพระเจ้าอังวะให้กองทัพยกมาตีเมือง จะต้านทานสู้รบมิได้ด้วยไม่มีที่พึ่ง จึงปลงใจจะขอขึ้นกรุงเทพฯเอาพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทยเป็นที่พำนัก ขอกองทัพไทยไปช่วยป้องกันรักษาเมือง แล้วสืบรู้ว่าพระราชภาคิไนยหญิงพระองค์ ๑ ตกมาอยู่เมืองทวายแต่ครั้งพม่าไปตีกรุงเก้ได้กวาดต้อนครอบครัวไทยมานั้น จึงไปเชิญพระราชภาคิไนยนั้นมาไต่ถามได้ความว่า เป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ จึงจัดให้นางคน ๑ รูปงามเป็นน้องภรรยาพระยาทวายจะส่งเข้ามาถวาย แล้วให้แต่งศุภอักษรจารึกลงแผ่นทองเป็นอักษรภาษาพุกามตามจารีตข้างพม่า ใจความอ่อนน้อมขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองขึ้นพระมหานครศรีอยุธยา ขอกองทัพออกไปช่วยป้องกันรักษาเมืองกับกับถวายนางเข้ามาด้วย แล้วให้พระเจ้าหลานเธอมีหนังสือเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา เป็นอักษรภาษาไทย ๑ ฉบับ ให้จัดหาพระสงฆ์ไทยได้มหาแทนรูป ๑ จึงจักขุนนางทวายเป็นทูตานุทูตถือศุภอักษรและเครื่องราชบรรณาการ พานางมวายซึ่งให้เรียกว่า ตะแคงภาษาพม่าว่าเจ้ากับมหาแทน ให้ถือหนังสือพระเจ้าหลานเธอฉบับ ๑ มาด้วยกับทูตานุทูตทั้งไพร่นาย ส่งมาทางเมืองกาญจนบุรี กรมการเมืองกาญจนบุรีบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร โปรดมีตราแต่งให้ข้าหลวงออกไปรับทูตทวายเข้ามา…

….และไต่ถามไล่เลียงพระมหาแทนได้ความชัดว่าเป็นพระธิดาของพระเจ้าขุนรามณรงค์สมเด็จพระเชษฐาเป็นพระเจ้าหลานเธอแน่แล้ว ….. ทรงพระกรุณาโปรดฯให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพกับท้าวพระยาหัวเมือง ถือพล ๕๐๐๐ ยกออกไปช่วยรักษาเมืองทวายและพระราชทานพานทองเครื่องยศให้พระยายมราชคุมออกไปพระราชทานพระยาทวายด้วย

ทรงกลับเข้ามาพร้อมกับเมืองทวายมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารโดยไม่ต้องรบเลย นับว่าเป็น ยอดขัติยนารี พระองค์หนึ่งได้

ยังปรากฏพระองค์ในหนังสือ “ไทยรบพม่า” พระนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งที่ ๔ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย
(ต่อพระราชนิพนธ์)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาหาได้ทำราชการในหลวงไม่ เพราะเสด็จไปอยู่กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวา โดยนัยที่กล่าวมาแล้วแต่หลัง เป็นแต่เข้าแอบอิงอาศัยมีสังกัดอยู่ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช เป็นเอารสของกรมพระราชวังในแผ่นดินนั้น ครั้นเมื่อแผ่นดินสุริยามรินทร์ได้เป็นพระองค์เจ้าโปรดปรานในพระเจ้าแผ่นดิน มีผู้นับถือมาก ครั้นมาถึงแผ่นดินกรุงธนบุรีได้ทรงทำราชการในตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจนอกขวา แล้วเลื่อนที่เป็นพระยาอนุชิตชาญชัย(๑)แล้วเลื่อนที่ต่อขึ้นไป เป็นเจ้า(๒)ยมราช เสนาบดีในกรมพระนครบาล แล้วจึงได้เลื่อนที่เป็นเจ้าพระยาเสนาบดีในกรมพระนครบาล แล้วจึงได้เลื่อนที่เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์สมุหนายกเอกอุ ได้เป็นแม่ทัพทำการสงครามกับพม่าและเขมรและลาว มีความชอบได้ราชการมากหลายครั้ง ภายหลังจึงได้เลื่อนเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนคราระอาเดช สรรพเทเวศรานุรักษ์อกอัครบาทมุลิกา กรุงเทพธนบุรีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชมหาสถาน อวตารสถิตบพิตรพิชัย อภัยพิริยปรากรมพาหุ ได้ทรงพระเสลี่ยงงากั้นพระกลด และมีเครื่องทองต่างๆเป็นเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม เมื่อปีกุนเอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ กรุงธนบุรีมีความต้องการจะไปรบเมืองเวียงจันท์แก้แค้นที่เจ้าเวียงจันท์บุญสารยกมาทำแก่เมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งมาขึ้นแล้วแก่กรุงธนบุรี และเจ้าเวียงจันท์บุญสารไปขอกำลังพม่ามาช่วยด้วยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในเวลานั้น กับพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิศณวาธิราชในเวลานั้น ต้องยกพยุหโยธาขึ้นไปรบเมืองเวียงจันท์มีชัยชำนะตีเอาเมืองเวียงจันท์ได้ ได้ชนเชลยและสิ่งของมาเป็นอันมาก ครั้งนั้นได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมณีสีเขียวที่เรียกกันว่าพระแก้วมรกต ซึ่งประดิษฐานอนู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกาลบัดนี้นั้น ลงมายังกรุงธนบุรีด้วยนั้นเป็นเหตุมหัศจรรย์ดังนี้ เพราะพระแก้วพระองค์นี้ยังไม่มีผู้ใดในเมืองไทยไปได้มาตลอดเวลาแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาและแผ่นดินเมืองเหนือล่วงมาแล้วหลายร้อยปี ฯ

ครั้นเมื่อปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๑๔๓ แผ่นดินเมืองเขมรซึ่งมาขึ้นกรุงธนบุรีอยู่แต่ก่อนนั้นกำเริบ พระยาเขมรลุกขึ้นจับพระองค์ราม ซึ่งเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้ากรุงกัมพูชาฆ่าเสียแล้วแข็งเมืองกระด้างกระเดื่องไป เพราะฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในเวลานั้นกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวัง ซึ่งเป็นเจ้าพระยาสุรีห์พิศณวาธิราชในเวลานั้น ต้องยกพยุหโยธาออกไปยังการทัพ ทำสงครามปราบปรามพวกเขมรอยู่ ฯ

ฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมณีองค์นี้มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว ก็มีจิตรกำเริบเติบโตอันใช่ที่ คือมีสัญญาวิปลาส ว่าตนเป็นผู้มีบุญศักดิ์ใหญ่ เป็นพระโพธิสัตว์จะสำเร็จพระพุทธภูมิได้ตรัสเป็นพระชนะแก่มาร เป็นองค์พระศรีอารยเมตไตรในกัล)นี้ ก็คิดอย่างนั้นบ้าง ตรัสอย่างนี้บ้าง ทำไปต่างๆบ้าง จนถึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียจริต ทำการผิดๆไปให้แผ่นดินจลาจล ร้อนรนทั่วไปทั้งไพร่และผู้ดี สมณพราหมณ์ชี เป็นการผิดใหญืยิ่งหลายอย่างหลายประการ ยิ่งกว่าการร้อนของแผ่นดินซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน พ้นที่จะร่ำจะพรรณนา จึงเกิดข้าศึกเข้าล้อมวังเจ้ากรุงธนบุรี ต้องยอมแพ้แก่ข้าศึก ขอแต่ชีวิตออกบรรพชา ฝ่ายข้าศึกเข้ารักษาแผ่นดินก็รักษาไปไม่ได้ การบ้านเมืองในกรุงธนบุรีก็ป่วนปั่นวุ่นวายไปต่างๆ ครั้งนั้นกรมพระราชวังหลังซึ่งเป็นพระโอรสใหญ่ของกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี เวลานั้นเป็นที่เจ้าพระยานครราชสีมา ได้ยกพวกพลเข้ามาปราบปรามเสี้ยนหนามแผ่นดินรักษากรุงธนบุรีไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อได้ทราบเหตุนั้นไปแล้ว ก็ยกกองทัพเสด็จกลับเข้ามากรุงธนบุรี ครั้นนั้นผู้มีบรรดาศักดิ์ข้างหน้าข้างในทั้งปวง พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ชีอาณาประชาราษฎร ก็มีความสโมสรโสมนัส พร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ในปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พระชนมายุ ๔๖ ปีถ้วน จึงได้ตั้งการสร้างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยานี้ขึ้นเป็นพระมหานครบรมราชธานี และได้ทรงสร้างสิ่งต่างๆคือ พระบรมมหาราชวัง และพระอารามนั้นๆ ได้ดำรงอยู่ในศิริราชสมบัติโดยผาสุกภาพและทรงประพฤติราชกิจนั้นๆ บรรดาที่กล่าวและที่จะกล่าวว่ามีว่าเป็นในแผ่นดินนั้นทุกประการ โดยยุติธรรมและชอบด้วยเหตุผลและกาละเทศะ ซึ่งเป็นไปโดยตลอดเวลาพระชนมายุของพระองค์แล้ว ก็ทรงพระประชวรพระโรคชราเสด็จสวรรคต ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ฯ

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) ในพระราชพงศาวดารทุกฉบับว่า เป็นพระอภัยรณฤทธิ์ สงสัยว่าตรงนี้อาลักษณ์จะเขียนผิด และสร้อยชาญชัยนั้นก็น่าจะเขียนเพลินไป เพราะในเวลานั้นใช้ว่า อนุชิตราชา พึ่งมาเปลี่ยนเป็นอนุชิตชาญชัยเมื่อรัชกาลที่ ๔ (เชิงอรรถนี้เป็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

(๒) ในพระราชพงศาวดารว่า เป็นพระยายมราช สมด้วยแบบแผนในครั้งนั้น สงสัยว่า ที่นี่จะเขียนเกินไป(เชิงอรรถนี้เป็นของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ราชสกุลในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระผู้เป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระนามเดิมว่า “ทองดี” ได้เป็นที่ หลวงพินิจอักษร เสมียนตรากรมหาดไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา มีพระอัครชายาพระนามว่า “ดาวเรือง” ตั้งนิเวศสถานอยู่ภายในกำแพงพระนครศรีอยุธยาหลังป้อมเพชร ท่านทั้งสองมีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างพระอารามใกล้นิเวศสถานเคหะ เมื่อเสร็จแล้วให้นามว่า “วัดสุวรรณดาราราม” ปรากฏอยู่มาจนทุกวันนี้

ท่านทั้งสองมีพระโอรสธิดาดังนี้

๑.เป็นหญิง สา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยาเทพสุดาวดี
ประสูติราว จุลศักราช ๑๐๙๑
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแมเอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑ พระชันษา ๗๐ ปีเศษ
ทรงมีพระภัสดานามว่า หม่อมเสม เป็นที่พระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวร สิ้นชีพแต่ครั้งกรุงเก่า
มีพระโอรสธิดาดังนี้

๑.๑ เป็นชาย ทองอิน เฉลิมพระนามขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ และโปรดเกล้าฯให้สถาปนาขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
ประสูติในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาลอัฐศก จ.ศ. ๑๑๐๘
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เป็นที่พระสุริยอภัย
ทิวงคตในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาลอัฐศก จ.ศ. ๑๑๖๘ พระชันษา ๖๑ ปี

๑.๒ เป็นชาย บุญเมือง เฉลิมพระนามเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ(๑) เจ้าฟ้า กรมหลวงธิเบศรบดินทร์
ประสูติเมื่อปีระกา จ.ศ. ๑๑๑๕
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ อุตราสาฒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศก จ.ศ.๑๑๔๗ พระชันษา ๓๒ ปี

๑.๓ เป็นชาย ทองจีน เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทร์รณเรศ
ประสูติเมื่อ ปีฉลูนพศก จ.ศ. ๑๑๑๙
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีมะเส็งนพศก จ.ศ. ๑๑๕๙ พระชันษา ๔๑ ปี
ทรงเป็นต้นสกุล “นรินทรางกูร”

๑.๔ เป็นหญิง ทองคำ เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าทองคำ
ประสูติเมื่อปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๒๓
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑

๒. เป็นชาย ไม่ปรากฏพระนามเดิม แต่มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ขุนรามณรงค์ ต่อมาเรียกกันว่า พระเจ้ารามณรงค์ ท่านสิ้นพระชนม์แต่ครั้งยังไม่เสียกรุงเก่า ทรงมีพระธิดาพระองค์หนึ่งเรียกกันว่า “เจ้าครอกชี” เนื่องจากทรงผนวชเป็นรูปชี ได้พระองค์กลับคืนมาเมื่อครั้งเมืองทวายได้มาสวามิภักดิ์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เจ้าครอกชี สิ้นพระชนม์แต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ต่อมมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมขุนรามินทรสุดา

๓. เป็นหญิง แก้ว ฌแลมพระนามขึ้นเป็น เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ตำหนักที่ทรงประทับทาสีแดง จึงมักออกพระนามเรียกกันว่า “เจ้าคุณพระตำหนักแดง”
ประสูติราว พ.ศ. ๒๒๘๒
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะแมเอกศก จ.ศ. ๑๑๖๑ พระชันษา ๖๐ ปีเศษ
พระภัสดานามว่า เจ้าขรัวเงิน สิ้นชีพในแผ่นดินกรุงธนบุรี มีพระโอรสธิดาดังนี้

๓.๑ เป็นชาย ตัน เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์
ประสูติเมื่อปีเถาะเอกศก จ.ศ. ๑๑๒๑
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จ.ศ. ๑๑๖๗ พระชันษา ๔๗ ปี
ทรงเป็นต้นสกุล “เทพหัสดิน”

๓.๒ เป็นหญิง ฉิม เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิม ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯสถาปนาพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี
ประสูติเมื่อปีมะเส็งตรีศก จ.ศ. ๑๑๒๓
สิ้นพระชนม์ปีใดไม่ปรากฏ

๓.๓ เป็นชาย สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

๓.๔ เป็นหญิง บุญรอด ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระยศขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา มักออกพระนามกันว่า สมเด็จพระพันวสา ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี
ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุนนพศก จ.ศ. ๑๑๒๙
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอกอัฐศก จ.ศ. ๑๑๙๘ พระชันษา ๗๐ ปี

๓.๕ เป็นชาย จุ้ย เฉลิมพระนามเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงพิทักษ์มนตรี
ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีขาลโทศก จ.ศ. ๑๑๓๒ ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงกำกับกรมวัง กรมมหาดไทย
สิ้นพระชนม์ใรชกาลที่ ๒ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๘๔ พระชันษา ๕๓
ทรงเป็นต้นสกุล “มนตรีกุล”

๓.๖ เป็นชาย เกศ เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงกำกับกรมหมาดไทยสืบต่อจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งเบญจศก จ.ศ. ๑๑๓๕
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาลโทศก จ.ศ. ๑๑๙๒ พระชันษา ๕๘ ปี
ทรงเป็นต้นสกุล “อิศรางกูร”

๔. เป็นชาย ทองด้วง หรือ ด้วง คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระราชสมภพในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก จ.ศ. ๑๐๙๘
พ.ศ. ๒๐๓๔ ได้เป็นที่ หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๑ เป็นที่ พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอก ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๑ เลื่อนขึ้นเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ หลังทำศึกปราบเจ้าพิมายสำเร็จ
พ.ศ. ๒๓๑๓ เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช
พ.ศ. ๒๓๑๔ เลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาจักรี
พ.ศ. ๒๓๑๙ เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนปรินายก
พ.ศ. ๒๓๒๕ วันที่ ๖ เดือนเมษายน เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ประกอบการพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
สวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จ.ศ. ๑๑๗๑ พระชนมพรรษา ๗๓ พรรษา ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี
ทรงมีพระราชโอรสธิดา รวม ๔๒ พระองค์ (๒)

ที่ ๕ เป็นชาย บุญมา คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีห์นาห
ประสูติในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุนเบญจศก จ.ศ. ๑๑๐๕
พ.ศ. ๒๓๐๗ ได้เป็นนายสุจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ในพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งอมรินทรา กรุงเก่า
พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้เป็นที่ พระมหามนตรี ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี
พ.ศ. ๒๓๑๑ เลื่อนขึ้นเป็น พระยาอนุชิตราชา จางวางกรมพระตำรวจขวา
พ.ศ. ๒๓๑๓ เลื่อนขึ้นเป็น พระยายมราช และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ทรงมีสมญาที่พวกข้าศึก และชาวต่างเมือง ออกพระนามกันว่า “พระยาเสือ”
พ.ศ. ๒๓๒๕ อุปราชาภิเษกขึ้นเป็นที่ กรมพระราชวังบวร มหาสุรสีหนาท
สวรรคตในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุนเบญจศก จ.ศ. ๑๑๖๕ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา
ทรงมีพระโอรสธิดารวม ๔๓ พระองค์(๓)

………………………………………………………………………………………………………………………………….

(๑) “พระสัมพันธวงศ์เธอ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติให้ใช้เป็นคำนำพระนามพระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กรมพระราชวังบวรสถานมงคงในรัชกาลที่ ๑

(๒) ขอยกไปในตอนต่อไปนะครับ “พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

(๓) ขอยกไว้ตอนต่อๆไปนะครับ ตำนานวังหน้า

๖. เป็นหญิง กุ เฉลิมพระนามขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี
ประสูติปีใดไม่ปรากฏ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ไม่ปรากฏวันเดือนปี
พระชนนีนามว่า “หยก” เป็นพระน้องนางในพระอัครชายาเดิม(ดาวเรือง) วังที่ประทับอยู่ริมวักโพธิ์ คนทั่วไปจึงออกพระนามว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” พระภัสดามีนามเดิมว่า หม่อมมุก (เป็นบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)) ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้เป็นกรมหมื่นนริทรพิทักษ์ ถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๑
ท่านเป็นต้นสกุล นรินทรกุล
มีโอรส ๒ พระองค์ คือ

๖.๑ เป็นชาย ฉิม เฉลิมพระนามเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ
ประสูติเมื่อปีชวดโทศก
ในรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๔๒ โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น กรมหมื่นนรินทรเทพ
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๒

๖.๒ เป็นชาย เจ่ง เฉลิมพระนามเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรบริรักษ์
ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก จ.ศ. ๑๑๔๘
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีขาลโทศก จ.ศ. ๑๑๙๒ พระชันษา ๔๖ ปี

๗. เป็นชาย ลา ต่อมาได้เฉลิมพระนามเป็น พระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา
ประสูติเมื่อปีมะโรงโทศก จ.ศ. ๑๑๒๒ พระชนนีนามว่า “หยก” (ร่วมพระชนนีกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี)
เมื่อเสียกรุงเก่าได้ตามสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก(ทองดี) กับพระมารดา(หยก)ขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ได้อัญเชิญพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกมาถวาย เป็นความชอบอย่างพิเศษในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา
สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ ๑๑๖๙
ทรงเป็นต้นสกุล “เจษฎางกูร”
สมเด็จพระปฐมบรมราชชนก (สมเด็จพระชนกาธิบดี) มีพระราชโอรส พระราชธิดา ดังนี้ครับ
นามเดิมคือ
สา (ญ)
ราม
แก้ว (ญ)
ทองด้วง
บุญมา
และ กุ (ญ) ครับ
คัดตัดตอนมาให้อ่านสดวกจาก
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3750590/K3750590.html

1 Comment »

  1. Nice writing style. Looking forward to reading more from you.

    Comment by Public Speaking — March 3, 2009 @ 07:07 | Reply


RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

Leave a comment

Blog at WordPress.com.