Accom Thailand

July 17, 2008

“สนธิ” นำจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวันอาสาฬหบูชา

มหามงคล พระสุรเสียงพระราชินี ยก “มหามิตร” ทำดี-ปกป้องคนดี


“สนธิ” นำจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวันอาสาฬหบูชา พร้อมนำพี่น้องประชาชนจุดเทียนชัยตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพร แด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปิดเทปมหามงคล พระสุรเสียงสมเด็จพระราชินีทรงอ่านหนังสือธรรมะ เรื่อง “มหามิตร” ที่มีนัยการทำความดีเพื่อปกป้องคนดีที่สมควรบูชา-จงรักภักดี
เนื่งในวโรกาสทรงครงิสริยยศ สมเด็จพระราชินี ปีที่ 54 วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ตน มหามิตร

เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ สมเด็จพระราชินี ปีที่ 54 วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ตอน มหามิตร



วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในวันอาสาฬหบูชา โดยเป็นตัวแทนจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย


นายสนธิ กล่าวว่า เนื่องในวันพิเศษครั้งนี้ จะมีการเปิดดีวีดีพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตรัสถึงเรื่อง “มหามิตร” ซึ่งเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ และว่า จากนั้นในช่วงที่ล่วงเข้าวันใหม่ ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาจ ะเปิดดีวีดีอีกแผ่นหนึ่ง ซึ่งบันทึกพระสุรเสียงของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตรัสถึงเรื่อง “ความมหัศจรรย์ของพระธรรมวินัย” ซึ่งพระองค์ไม่ทรงเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
เปิดเทปมหามงคล พระสุรเสียงสมเด็จพระราชินีทรง่านหนังสืธรรมะ เรื่ง

เปิดเทปมหามงคล พระสุรเสียงสมเด็จพระราชินีทรงอ่านหนังสือธรรมะ เรื่อง



นายสนธิ ได้อธิบายถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันที่มีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ครบถ้วน โดยเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เทศนาให้ปัญจวัคคี โดยพระโกณทัญญะได้บรรลุโสดาบันและขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธ ศาสนา


นายสนธิ ยังได้เปรียบเทียบคำพูดของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่พูดถึงเรื่องอริยสัจ 4 เรื่องทุกข์และทางดับทุกข์ ว่า ถ้าหากนายสมัครรู้ว่าทุกข์ของประชาชนคืออะไรก็จะดับทุกข์ได้ง่าย ไม่ใช่ไปโทษรัฐธรรมนูญว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้วจะดับทุกข์ด้วยการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ


จากนั้นได้เปิดเทปบันทึกพระสุรเสียงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อ่านหนังสือธรรมะ “พระอานนท์ พุทธอนุชา” เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ สมเด็จพระราชินี ปีที่ 54 วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ตอน “มหามิตร” ที่กล่าวถึงพระอานนท์ที่ทรงปกป้องพระพุทธเจ้าอย่างยอมตายถวายชีวิต เพื่อไม่ให้ภัยมากล้ำกลายได้ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์กรณีพระเทวทัตร่วมมือกับพระอชาติศัตรูจะทำร้ายพระ พุทธเจ้า โดยกรอกเหล้าช้างนาราคีรีให้ตกมันเข้าทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่ด้วยพระบุญญาบารมีก็ไม่อาจทำร้ายพระพุทธองค์ได้


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าถึงความภักดีของพระอานนท์ที่มีต่อพระพุทธเจ้า หลายครั้งที่พระพุทธองค์ทรงอาพาธ พระอานนท์ก็ทรงถวายการรักษาด้วยความห่วงใย และพระอานนท์ยังเป็นตัวอย่างในเรื่องของความประหยัดและนำไปใช้ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด ซึ่งพระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวรของพระสงฆ์ที่เหมาะสมในทุกยุคสมัย


ทั้งนี้ เทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีความยาวประมาณ 17 นาที


จากนั้น นายสนธิ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเข้าใจพระธรรม ทรงใส่บาตรทุกเช้า และทรงสนทนาธรรมกับพระเถระหลายท่าน


นายสนธิ กล่าวว่า นัยเรื่องมหามิตร อยู่ที่พระอานนท์ที่ทรงปกป้องไม่ใช่ในฐานะพระอนุชาโดยสายเลือด แต่ทรงปกป้องความดีของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเปรียบเทียบเหมือนกับพี่น้องประชาชนที่ตอบแทนคนดี เสียสละเพื่อมิตร เพื่อคนที่เรารัก เราจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีนาถ ที่ทรงทำคุณแก่แผ่นดินไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และว่าคนดีเท่านั้นที่เห็นความดีด้วยกัน ขณะที่รัฐบาลนี้ที่มีแต่คนชั่วมักมองไม่เห็นความดี


“พันธมิตรฯ มีร้อยพ่อพันแม่ มาทำความดีเพื่อถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี” นายสนธิ ระบุพร้อมทั้งร่วมจุดเทียนและสงบนิ่งตั้งจิตอธิษฐานขอให้สิ่งดีๆ ขอส่วนบุญส่วนกุศลให้ทุกคนรุ่งเรืองถึงบรรพบุรุษถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ล่วงหน้า


บันทึก เทปพระสุรเสียงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อ่านหนังสือธรรมะ “พระอานนท์ พุทธอนุชา” เนื่องในวโรกาสทรงครองอิสริยยศ สมเด็จพระราชินี ปีที่ 54 วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ตอน “มหามิตร”


“พูดถึงความจงรักภักดี และความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค พระอานนท์มีอยู่อย่างสุดพรรณนา ยอมสละแม้แต่ชีวิตของท่านเพื่อพุทธองค์ได้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง พระเทวทัตร่วมกับพระเจ้าอชาติศัตรู วางแผนสังหารพระจอมมุนี โดยการปล่อยนาราคีรี ซึ่งกำลังตกมันและมอมเหล้าเสีย 16 หม้อ ช้างนาราคีรียิ่งคะนองมากขึ้น วันนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าสู่นครราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ในขณะที่พระองค์กำลังรับอาหารจากสตรีผู้หนึ่งอยู่นั้น เสียงลั่นของช้างนาราคีรีดังขึ้น ประชาชนที่คอยดักถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค แตกกระจายวิ่งเอาตัวรอด ทิ้งภาชนะอาหารเกลื่อนกลาด พระพุทธองค์เหลียวมาทางซึ่งช้างใหญ่กำลังวิ่งมา ด้วยอาการสงบ พระอานนท์พุทธอนุชา เดินล้ำมายืนอยู่เบื้องหน้าของพระผู้มีพระภาค ด้วยคิดจะป้องกันชีวิตพระศาสดาด้วยชีวิตของท่านเอง


“หลีกไปอานนท์ อย่าป้องกันเราเลย” พระศาสดาตรัสอย่างปกติ


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ” พระอานนท์ทูล


“ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก เป็นประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ประดุจโพธิ์และไทร เป็นที่พึ่งของหมู่นก เสมือนน้ำเป็นที่พึ่งของหมู่ปลา เสมือนป่าเป็นที่พึ่งอาศัยของจตุบททวิบาท พระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งซึ่งมีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้องเพื่อรักษาไว้ซึ่งแก้วมณี เถิดพระเจ้าข้า”


“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงตถาคตลงจากชีวิตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน หรือมนุษย์ หรือเทวดา มาร พรหมใดๆ”


ขณะนั้น นาราคีรีวิ่งมาจวนจะถึงองค์พระจอมมุนีอยู่แล้ว เสียงร้องกรีดของสตรีดังขึ้นเป็นเสียงเดียวกัน ทุกคนอกสั่นขวัญหนี นึกว่าครั้งนี้เป็นวาระสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพระศาสดาผู้บริสุทธิ์ดุจดวง ตะวัน พระพุทธองค์ผู้ทรงแผ่เมตตา ซึ่งทรงอบรมมาเป็นเวลายืดยาวนานหลายแสนชาติ ซ่านออกจากพระหฤทัย กระทบเข้ากับใจอันคลุกด้วยความมึนเมาของช้างนาราคีรี ช้างใหญ่หยุดชะงักเสมือนกระทบกับเหล็กท่อนใหญ่ ใจซึ่งเร่าร้อน กระวนกระวายเพราะโมหะของมัน สงบเย็นลง เหมือนไฟน้อยกระทบกับอุทกธารา พลันก็ดับวูบลง มันหมอบลงแทบพระมงคลบาทของพระบรมศาสนา พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์อันวิจิตร ลูบศีรษะของพญาช้าง พร้อมด้วยตรัสว่า “นาราคีรีเอยเจ้าถือกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเจ้าในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน” ช้างนาราคีรีสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วใช้งวงเคล้าเคลียพระชงค์ของพระผู้มี พระภาค เหมือนสารภาพผิด ความมึนเมาและตกมันปราศนากาลไปสิ้น นี่แหละพุทธานุภาพ ประชาชนเห็นเป็นอัศจรรย์ พากันเข้ามาสักการบูชาสมเด็จพระศาสดา ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นจำนวนมาก


ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประชวรด้วยพระโรคลมในพระอุทร พระอานนท์เป็นห่วงยิ่งนัก จึงได้ปรุงยาคู ต้มจนเหลวด้วยมือของท่านเอง แล้วน้อมนำเข้าไปถวาย เพราะพระพุทธองค์เคยตรัสว่า ยาคู เป็นยาไล่ลมในท้อง ในลำไส้ได้ดี พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “อานนท์เธอได้ยาคูมาจากไหน” “ข้าพระองค์ปรุงเอง พระเจ้าข้า” “อานนท์ทำไมเธอจึงทำอย่างนี้ เธอทำสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ เธอทราบไม่ใช่หรือว่าสมณะไม่ควรปรุงอาหารเอง ทำไมเธอจึงมักมากถึงปานนี้ เอาไปเทเสียอานนท์ เราไม่รับยาคูของเธอดอก” พระอานนท์คงก้มหน้านิ่ง ท่านมิได้ปริปากโต้แย้งเลยแม้แต่น้อย


ครั้งหนึ่ง พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมมสิ่งเป็นโทษ เป็นเหตุให้ทรงอึดอัด มีพุทธประสงค์จะเสวยยาระบาย พระอานนท์ทราบแล้วจึงไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ หมอเรียนท่านว่า ขอให้ท่านกราบทูลให้พระองค์ทรงพักผ่อนเพื่อให้พระกายชุ่มชื่นสัก 2-3 วัน พระอานนท์ก็กระทำตามนั้น ได้เวลาแล้วท่านก็ไปหาหมออีก หมอชีวกได้ปรุงยาระบายพิเศษอบด้วยก้านอุบลสามก้าน ถวายให้พระผู้มีพระภาคสูดดมมิใช่เสวย ปรากฏว่าทรงระบายได้ถึง 3-4 ครั้ง


ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นิโคธาราม นครกบิฬพัสดุ์ พระองค์เพิ่งทรงฟื้นจากไข้หนักไม่นาน ท้าวมหานามเข้าเฝ้าและทูลถามปัญหาหนักๆ เช่น ปัญหาว่า ญาณเกิดก่อนสมาธิ หรือสมาธิเกิดก่อนญาณ ท่านอานนท์เห็นว่าจะเป็นการลำบากแก่ผู้มีพระภาค จึงจับพระหัตถ์ท้าวมหานามนำเสด็จออกไปข้างนอกและแก้ปัญหานั้นเสียเอง


อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์พระทับ ณ นครเวสาลี ทรงประชวรหนัก และทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้นจนหาย


พระอานนท์ทูลความในใจของท่านแด่พระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้ทรงเจริญ! เมื่อพระองค์ทรงประชวรอยู่นั้น ข้าพระองค์กลุ้มใจเป็นที่สุด กายของข้าพระองค์เหมือนงอมระงมไปด้วยความรู้สึกเหมือนว่า ทิศหลายทั้งมืดมน แต่ข้าพระองค์ก็เบาใจอยู่หน่อยหนึ่ง ว่าพระองค์คงจักไม่ปรินิพพาน จนกว่าจะได้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง”


พระอานนท์นี้เอง เป็นผู้ออกแบบจีวรของพระสงฆ์ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่มาจนบัดนี้ นับว่าเป็นแบบเครื่องแต่งกายเก่าแก่ที่สุดในโลก เข้าได้ทุกการทุกงาน และทันสมัยอยู่เสมอ


ครั้งหนึ่งพระอานนท์ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปสู่ทักขิณาคีรีชนบท พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้นๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามพระอานนท์ว่า “อานนท์! เธอจะทำจีวรแบบนาของชาวมคธนี้ได้หรือไม่” “ลองทำดูก่อน พระเจ้าข้า” ท่านทูลตอบ ต่อมา ท่านได้ทำการตัดเย็บจีวรแบบคันนาของชาวมคธนั้น แล้วนำขึ้นทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณา พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรแล้วเห็นชอบด้วย รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายใช้จีวรที่ตัดและเย็บแบบที่ท่านอานนท์ออกแบบนั้น พร้อมกันนั้นได้ตรัสชมเชยท่านอานนท์ท่ามกลางสงฆ์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาดมีปัญญา สามารถเข้าใจในคำที่เราพูดแต่โดยย่อได้โดยทั่วถึง”


พูดถึงเรื่องประหยัด หรือใช้สิ่งของให้คุ้มค่า พระอานนท์เป็นผู้ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังครั้งหนึ่งหลังพุทธปรินิพพาน ท่านเดินทางโดยทางเรือไปสู่นครโกสัมพี เพื่อประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระหัวดื้อตามรับสั่งของพระผู้มีพระภาค ขึ้นจากเรือแล้วท่านเข้าอาศัยพัก ณ อุทยานของพระเจ้าอุเทนราชาแห่งนครนั้น ขณะนั้นพระเจ้าอุเทนและพระมเหสีประทับอยู่ ณ พระราชอุทยาน พระมเหสีทรงทราบว่าพระอานนท์มาก็ทรงโสมนัส ทูลลาพระสวามีไปเยี่ยมพระอานนท์ สนทนาพอเป็นสัมโมทนียกถาแล้ว พระอานนท์แสดงธรรมเป็นที่เสื่อมใสจับจิตยิ่งนัก พระนางได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน ในเวลาต่อมาแด่อานนท์ พระเจ้าอุเทนทรงทราบเรื่องนี้แทนที่จะทรงพิโรธแด่พระมเหสีกลับทรงตำหนิท่าน อานนท์ว่า รับจีวรไปทำไมมากมายหลายร้อยผืน จะไปตั้งร้านขายจีวรหรืออย่างไร เมื่อมีโอกาสได้พบพระอานนท์ พระองค์จึงเรียนถามว่า


“พระคุณเจ้า ทราบว่าภรรยาของข้าพเจ้าถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดรึ”

“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”

“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”

“เพื่อแบ่งถวายภิกษุทั้งหลายผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”

“จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำเพดาน”

“จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”

“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าปูพื้น”

“จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”

“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไรเล่า”

“เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี”

“จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”


พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า สมณะศากยบุตรเป็นผู้ประหยัด ใช้ของไม่ให้เสียเปล่า จึงถวายจีวรแก่พระอานนท์อีก 500 ผืน


พระอานนท์นอกจากเป็นผู้กตัญญูต่อผู้ใหญ่แล้วยังสำนึกแม้ในอุปการะของ ผู้น้อยด้วย ศิษย์ของท่านเองที่กระทำดีต่อท่านเป็นพิเศษ ท่านก็อนุเคราะห์เป็นพิเศษ เช่น คราวหนึ่งท่านได้จีวรมาเป็นจำนวนร้อยๆ ผืน ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลถวาย ท่านระลึกถึงศิษย์รูปหนึ่งของท่านซึ่งทำอุปการะปฏิบัติต่อท่านดี มีการถวายน้ำล้างหน้า ไม้ชำระฟัน ปัดกวาดเสนาสนะ ที่อาศัย เวจจกุฎี เรือนไฟ นวดมือนวดเท้า เป็นต้น แปลว่าศิษย์ผู้นี้ปฏิบัติดีต่อท่านมากกว่าศิษย์อื่นๆ และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงมอบจีวรที่ได้มาทั้งหมดแด่ศิษย์รูปดังกล่าวนี้ เนื่องจากพระภิกษุรูปนี้เป็นพระดีจริงๆ จึงนำจีวรที่อุปัชฌายะมอบให้ไปแจกภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะเดียวกันจนหมดสิ้น ดูเหมือนจะเป็นความประสงค์ของพระอานนท์ที่จะให้เป็นเช่นนั้นด้วย


ภิกษุทั้งหลายได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลว่า “พระเจ้าข้า อคติหรือความเห็นแก่หน้ายังมีแก่พระโสดาบันหรือ” “มีเรื่องอะไรรึภิกษุ” เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การทำเพราะเห็นแก่หน้าคืออคติ หามีแต่อานนท์ไม่ แต่ที่อานนท์ทำเช่นนั้น ก็เพราะระลึกถึงอุปการะของศิษย์ผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อ เธออย่างที่สุด ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้แต่น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร”

ปรับปรุงจาก ข่าว และ ภาพ ของ ผู้จัดการออนไลน์ 17 กรกฎาคม 2551 21:08 น.
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000084409
พิมพ์ ข่าวนี้
ข้อแถลง “ประสาทพระวิหาร” จากคณะวิจัย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านช่าวและเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง


ใช้ [ปุ่มถอยหลัง] ของเว็บบราวเซอร์ เพื่อกลับมาที่นี่ จากข้อมูลเชื่อมโยงด้านล่าง
Use Browser [Back] Button Return to Here from URL Below

Leave a Comment »

No comments yet.

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

Leave a comment

Create a free website or blog at WordPress.com.